บทความ สาระความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน ที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน ทั้งข้อความ รุปภาพ คลิป เสียง ครบทุกประเภท
ads by google
วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
วิธีทำลิ้นให้สะอาด ช่วยลดกลิ่นปาก
วิธีทำลิ้นให้สะอาด ช่วยลดกลิ่นปาก
หากท่านต้องการให้ลมปากสะอาดก็ไม่ควรมองข้ามถึงการทำความสะอาดลิ้น!!
เนื่องจากลิ้นของเรามีผิวที่ไม่เรียบแต่ขรุขระ ถ้าเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับพรมหนาๆที่ถักด้วยเส้นใยผ้า มีซอกเล็กซอกน้อยเต็มไปหมด ดังนั้นลิ้นจึงเป็นที่กักเศษอาหารอย่างดีที่สุด เหมาะที่สุดที่จะให้แบคทีเรียที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการเจริญเติบโตอาศัยอยู่ แบคทีเรียเหล่านี้ปล่อยสารพิษที่ทำอันตรายต่อเหงือกและฟัน แล้วยังก่อให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์มีกลิ่นเหม็นเน่า
จากการวิจัยพบว่าแบคทีเรียที่มีผลต่อกลิ่นปากมากๆมักจะอยู่ตามโคนลิ้นมากกว่าที่ฟันและเหงือก ก็เป็นคำตอบที่ดีสำหรับหลายท่านที่สงสัยว่า;
- ฟันผุก็อุดแล้ว
- เหงือกก็ไม่อักเสบ ขูดหินปูนทุก 6 เดือนตามหมอนัด
- แปรงฟันหลังอาหารทุกวัน
- เสียเงินไปก็มากกับการใช้น้ำยาบ้วนปากหลากหลายชนิด
แต่ก็ยังไม่วาย รู้สึกมีกลิ่นปาก ลมหายใจที่ไม่สะอาด......
- ลองมาสังเกตลิ้นของท่านดูว่ามีคราบอาหารจับหรือไม่?
- ท่านเคยทำความสะอาดลิ้นหรือเปล่า?
การทำความสะอาดลิ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาสุขภาพในช่องปากนอกจากการแปรงฟันและใช้ Dental Floss เพื่อทำความสะอาดซี่ฟัน
เราจะทำความสะอาดลิ้นอย่างไร?
เดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์ทำความสะอาดลิ้นทำจากพลาสติกเป็นรูปตัว U วิธีใช้ให้แลบลิ้นออกมาให้สุด ใช้ไม้ขูดลิ้นขูดจากโคนลิ้นมาด้านหน้า ทำสัก 3-4 ครั้งจะเห็นคราบอาหารติดออกมา เราจะทำวันละ 3 ครั้งต่อวัน ตอนเช้าตื่นนอน หลังอาหารเย็น และก่อนนอน
การทำความสะอาดลิ้นอย่างสม่ำเสมอนอกจากจะช่วยลดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นแล้ว ยังมีผลทำให้ลิ้นสามารถรับรสได้ดีขึ้น (วารสารทันตแพทย์สมาคมสหรัฐอเมริกา ธันวาคม 1999) และก็มีข้อมูลที่น่าสนใจในวงการแพทย์ว่ามีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญว่าแบคทีเรียในช่องปากมีโอกาสทำให้ติดเชื้อและเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ และจากวารสารของสมาคมทันตแพทย์สหรัฐอเมริกาเดือนมีนาคม 2001 ก็ยืนยันว่าก๊าซที่เกิดจากแบคทีเรียในช่องปากมีโอกาสเกิดอันตรายต่อเยื่อหุ้มปอดเช่นกัน
การขจัดแบคทีเรียในช่องปากนอกจากจะมีผลดีต่อสุขภาพในช่องปาก ทำให้ลดกลิ่นแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพร่างกายส่วนอื่นด้วย ไม่เพียงพอแล้วสำหรับการแปรงฟัน, การใช้ Dental Floss, หรือน้ำยาบ้วนปาก
อย่าลืมทำความสะอาดลิ้นด้วยนะครับ
โดย พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี
ที่มา: www.healthtoday.net