ads by google

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Fwd: [LookMiM:98300] 'สังฆราช' สมณะผู้ทรงธรรม


 

'สังฆราช' สมณะผู้ทรงธรรม

โดย : ผกามาศ ใจฉลาด

"สมเด็จท่านสิ้นพระชนม์แล้ว" เสียงสั่นเครือของพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัย 53 ปี

หลังสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2556 เวลา 19.30 น. ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บรรดาลูกศิษย์ ผู้รับใช้ใกล้ชิด พุทธศาสนิกชนที่ไปนั่งสวดมนต์และนั่งเจริญจิตตภาวนาอยู่นอกห้องที่ประทับ ต่างเศร้าสลดใจ แม้ปากจะนั่งสวดมนต์อธิษฐานจิตส่งเสด็จพระองค์ท่าน แต่เสียงสวดมนต์ปนไปด้วยเสียงสะอื้นและใบหน้าที่มีน้ำตาอาบแก้ม

ณ เวลานี้ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อสมเด็จพระสังฆราชว่า การเคารพนับถือพระองค์ท่านไม่ได้อยู่แค่ในฐานะพระอาจารย์กับลูกศิษย์ แต่พระองค์ท่านเป็นเสมือนพ่อที่ดูแลสั่งสอนมาตั้งแต่เด็ก

"สมเด็จพระสังฆราชเสด็จ ประเทศเนปาลเมื่อปี 2513 ทรงรับปากคณะสงฆ์เนปาลไว้ว่า จะช่วยฝึกพระเณรประเทศเนปาล เพื่อได้รับการศึกษาที่ถูกต้องและกลับไปเผยแผ่ ก่อนหน้านั้นบวชเณรที่ศรีลังกา 9 เดือน จากนั้นอาตมาได้เข้าเฝ้าถวายตัวสมเด็จพระสังฆราชครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2518 อาตมาไม่ทราบว่าหน้าตาสมเด็จพระสังฆราชเป็นอย่างไร มาจากสนามบินพระอาจารย์จากเนปาลก็นำเข้าเฝ้าถวายตัวสมเด็จพระสังฆราช"

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ เล่าว่าจำได้ว่าเมื่อได้เข้าเฝ้าครั้งแรกพอกราบเสร็จ พระองค์ก็ให้ไปหาพระเลขาที่กุฏิข้างๆ ความทรงจำตอนนั้นเห็นพระพักตร์ครั้งแรก จำได้แค่ว่า ทรงยิ้ม พระพักตร์เปี่ยมด้วยพระเมตตา ทรงรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก็จำไม่ได้ แต่ทรงทราบดีว่าอาตมาเป็นสามเณรเนปาลเชื้อสายศากยวงศ์

"อาตมานับว่าเป็นโชคดีอย่างยิ่ง ที่ได้มาอยู่ในพระเมตตาอุปถัมภ์ดูแลเหมือนกับลูกคนหนึ่งของพระองค์ การมีเชื้อศากยวงศ์ของอาตมา พระองค์มีความโปรดปรานเป็นพิเศษตรงที่ว่า เป็นเชื้อสายศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้า เวลาเสด็จเนปาลพระองค์มักจะถามเรื่องนี้ หรือเวลาอยู่ในไทยทรงจะชี้ให้ทุกคนเห็นว่า นี่เขาเป็นเชื้อสายศากยวงศ์นะ แสดงให้เห็นว่าทรงมีความภาคภูมิใจในความเป็นศากยะระดับหนึ่ง แต่อาตมาเองไม่มีอะไรเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งที่ได้มีโอกาสสนองงานถวาย รู้สึกโชคดีที่ทรงไว้วางพระทัย มีโอกาสสนองงานถวายเทียบกับสามเณรและพระวัดบวรมีกว่า 20 รูปขณะนั้น"

เรียนจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยามา เป็นการผลักดันของสมเด็จพระสังฆราชเอง ไม่ใช่เป็นความใฝ่ฝันของอาตมาเลย ทรงให้ไปศึกษา เมื่ออาตมากลับมาก็ทรงภูมิพระทัยบอกว่านี่เขาเป็น"ดอกเตอร์"แล้วนะ ทรงชี้ว่าหน้าที่ของคุณตอนนี้ก็คือ สอนสิ่งที่คุณเรียนมา ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากที่อยู่ในการบริหารและงานเอกสาร ต้องเจอผู้คน เมื่อสมเด็จพระสังฆราชขีดเส้นให้อย่างนั้น ในฐานะลูกศิษย์ก็น้อมรับ พยายามทำตัวให้ดีที่สุด เริ่มทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์สอนในสิ่งที่เรียนมา

การอบรมสั่งสอนของสมเด็จพระสังฆราช เป็นไปอย่างมีแบบแผน พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ บอกว่า สมัยเป็นสามเณรชอบนึกเสมอว่าทำไมต้องเป็นเรา อยากจะเล่น อยากจะหนี แต่ถูกบังคับให้มาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราช แต่ตอนนี้หากมองย้อนกลับไปอาตมารู้สึกโชคดีที่ทรงไว้วางพระทัย

"สิ่งที่สมเด็จพระสังฆราชทรง สอนนั้น คงยากจะย่อความออกมา ในสิ่งที่ทรงทุ่มเทให้อาตมา แต่สิ่งที่เห็นคือ การวิจัย การวิจารณ์ การพัฒนาโยนิโสมนสิการเรื่องข้อธรรมะต่างๆ สมเด็จพระสังฆราช จะมีจุดเด่นที่ว่าพระองค์ทรงโปรดที่จะวิเคราะห์ข้อธรรม ไม่ใช่ว่ารับเข้ามาเฉยๆ พระองค์จะทรงนั่งสอนว่าดูสิพระไตรปิฎกนี้อ่านเมื่อไหร่ก็ได้ความรู้ใหม่ๆแม้ ว่าอ่านมา 30-40 ปีก็ตาม ซึ่งแต่ละประเด็นที่ทรงยกตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ามีวิธีคิดใหม่ๆ หรือว่าวิธีที่ทรงสอนเอง บางครั้งทรงสอนแบบไม่มีข้อกังขา ทำให้จุดหนึ่งเรากล้าที่จะศึกษา กล้าที่จะค้นคว้า"

"ความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียบง่าย"คือสิ่งที่พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นต้นแบบ "จากพระจริยวัตรของพระองค์ ทรงอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เคยถือพระองค์ว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราช หากมีพระผู้ใหญ่เข้ามาแม้มีพรรษามากกว่าแค่ 1 วัน พระองค์จะลดพระองค์ลงมาจากอาสนะมากราบ เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนที่เห็นมาตลอด"

ทรงเรียบง่าย มีความเป็นสมณะไม่อยู่อย่างหรูหรา เวลาเสด็จไปไหนไม่ได้รับจตุปัจจัยใดๆที่ญาติโยมถวายเลย ทรงถวายคืนเพื่อให้เขาไปทำบุญต่อ ทรงรับสั่งว่า เขานิมนต์พระสังฆราชและนิมนต์ด้วยความยากลำบาก ท่านบอกว่าไปไม่ใช่เพื่อรับของ แต่ไปเพื่อช่วยงานเขา เพื่อให้งานเขาสำเร็จและทรงทำเช่นนี้มาตลอด ก็เป็นภาพที่ประทับใจมาโดยตลอดว่านี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า "สมณะ"

Tags : สมเด็จพระสังฆราช