ads by google

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กรากาตัวคืออะไร




กรากาตัว
คอลัมน์: รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น


"กรากาตัว" (Krakatoa หรือ Krakatau) เป็นชื่อภูเขาไฟที่อยู่บนหมู่เกาะชื่อเดียวกันในช่องแคบซุนดาระหว่างเกาะชวากับเกาะสุมาตรา หมู่เกาะกลุ่มเล็กๆนั้นประกอบด้วย 3 เกาะ คือ เกาะลัง (Lang) เกาะเวอร์ลาเต็น (Verladen) และเกาะรากาตา (Rakata) ซึ่งรากาตานี้เองที่บ่อยครั้งที่ใช้คำว่ากรากาตัวแทนไปโดยปริยาย

บนเกาะรากาตาหรือกรากาตัวมีภูเขาไฟ 3 ลูก ได้แก่ เพอร์โบวาตาน (Perbuatan - 122 เมตร) อยู่ด้านเหนือสุด ถัดมาเป็นภูเขาไฟฝาแฝด คือมี 2 ปล่อง ชื่อ ดานาน (Danan - 445 เมตร) ส่วนภูเขาไฟที่สูงที่สุดบนเกาะอยู่ทางใต้สุดชื่อเดียวกับชื่อเกาะ คือรากาตา (823 เมตร)

ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ พื้นผิวเปลือกโลกบริเวณที่รองรับประเทศอินโดนีเซียที่เรียกว่าอินโดนีเซียนเพลต หรือเอเชี่ยนเพลต ถูกเปลือกโลกอีกแผ่นคือออสเตรเลียนเพลตเคลื่อนที่เข้ากระแทกแล้วมุดเข้าไปใต้เปลือกโลกเอเชี่ยนเพลต เมื่อมีที่ตั้งอยู่บนจุดที่เป็นทั้งรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนที่ในอัตราที่สูง และเป็นส่วนของแผ่นเปลือกโลกที่มีความบางมาก เมื่อแรงกดและความตึงเครียดสะสมได้ระดับที่พร้อมจะปลดปล่อยออกมาจึงทำให้เป็นจุดเปราะบางที่จะเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดได้บ่อยครั้ง

กรากาตัวมีแนวเส้นภูเขาไฟพาดผ่านใจกลางเกาะ หินและธาตุภูเขาไฟทำให้เป็นเกาะอุดมสมบูรณ์ มีผู้คนมาตั้งรกรากเริ่มจากทำเกษตรกรรม และต่อมาบริเวณนี้เป็นช่องแคบสำคัญ มีเรือสัญจรตลอดเวลา หมู่เกาะเล็กๆจึงกลายเป็นชุมชนใหญ่ที่มีถึงกว่า 160 หมู่บ้าน ภูเขาไฟกรากาตัวมีการระเบิดหลายครั้ง พ่นแร่ธาตุออกมาทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการระเบิดครั้งสุดท้ายก่อนการระเบิดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2224 หลังจากนั้นกรากาตัวก็สงบนาน 202 ปี จนถึง พ.ศ. 2426 เปิดหนังสือ ภู-มี-ศาสตร์ โดยบินหลา สันกาลาคีรี เขียนไว้ว่า เหตุการณ์ระเบิดครั้งรุนแรงของกรากาตัว "อาร์ดีเด็ม เวอร์บีค" เจ้าหน้าที่สำรวจของบริษัทเนเธอร์แลนด์ตะวันออกผู้อยู่ในเหตุการณ์ บันทึกแทบจะนาทีต่อนาทีดังนี้

วันที่ 20 พฤษภาคม (2426) ภูเขาไฟเพอร์โบวาตานส่งเสียงเตือนเบาๆ ปากปล่องพ่นเถ้าถ่านออกมาสูง 6 กิโลเมตร ต่อมา 19 มิถุนายน ภูเขาไฟดานานตรงกลางเกาะเริ่มประสานงานด้วย และ 11 สิงหาคม ไม่เพียงแค่พอร์โบวาตาน, ดานาน และรากาตาเท่านั้นที่กรุ่นควันพ่นเถ้าถ่าน รอยแยกเล็กรอยแยกน้อยเคียงข้างปล่องภูเขาไฟก็ร่วมปลดปล่อยไอพิโรธจากใต้ผืนดิน นับรวมทั้งสิ้นได้ 11 ปล่อง 24 สิงหาคม บ่ายโมง เปลวไฟปะทุ 26 สิงหาคม ปฐพีสะเทือน เวลาบ่าย 2 โมงฟ้ามืดเหมือนยามกลางคืน เถ้าและควันคลุมสูงขึ้นไป 27 กิโลเมตร เสียงระเบิดถี่และกึกก้องแทบจะทุก 10 นาที เรือในทะเลที่ห่างฝั่งร่วม 20 กิโลเมตรรายงานตรงกันว่าพายุหินร้อนๆสาดใส่ดุจสายฝน และคลื่นสึนามีเกิดห่างออกไป 40 กิโลเมตร

วันอาทิตย์ 27 สิงหาคม 2426 การระเบิดครั้งใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่สว่าง 05.30 น. แล้วอีกครั้ง 06.42 น. อีกครั้ง 08.20 น. กระทั่ง 10.01 น. กรากาตัวพินาศโดยสมบูรณ์ เสียงระเบิดดังได้ยินถึงย่านเกาะมอริเชียสซึ่งไกลออกไปถึง 4,800 กิโลเมตร เป็นการระเบิดครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่มีมาในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ ปริมาณลาวาทะลักล้นมหาศาล ผนวกกับคลื่นยักษ์สึนามิสูงกว่า 100 ฟุต กวาดกลืน 160 หมู่บ้านหายในพริบตา ผู้คน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา) 36,417 คนเซ่นสังเวย และเวอร์บีคบันทึกด้วยว่าบนเกาะกรากาตัวไม่มีภูเขาไฟเพอร์โบวาตานอีกต่อไป ดานานก็ไม่มี รวมทั้งผืนแผ่นดินเกาะอีกราว 2 ใน 3 จมหายสาบสูญไปในทะเล

ต้น พ.ศ. 2470 มีการค้นพบภูเขาเล็กๆก่อตัวขึ้นกลางทะเลบริเวณที่เพอร์โบวาตานกับดานานจมหายไป ภูเขานั้นเติบโต
อย่างวดเร็ว เมื่อถึงกลางเดือนมิถุนายนปีเดียวกันยอดของมันก็โผล่ขึ้นเหนือน้ำ เป็นเกาะหินชัดเจน ชาวอินโดนีเซียเรียกชื่อ "อนัค กรากาตัว" (Anak Krakatoa) อนัค แปลว่าเด็กเล็กๆ มันคือหนูน้อยกรากาตัวนั่นเอง เป็นหนูน้อยที่ความสูงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ยิ่งกว่านั้นอนัค กรากาตัวลำดับที่ 2, 3 และ 4 ก็ทยอยพ้นผิวมหาสมุทรขึ้นมาตามลำดับ และหนูน้อยทั้งหมดเป็นภูเขาไฟ