ads by google

วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

ประหารชีวิตด้วยยาพิษ

 
ประหารชีวิตด้วยยาพิษ
เขียนโดย  มณีอักษร


การลงโทษผู้กระทำความผิดมีมาแต่โบราณนับพันปีแล้ว สมัยก่อนโทษที่ใช้ เช่น โบยตี ทำงานหนัก จำคุก ประหารชีวิต เป็นต้น โทษประหารชีวิตถือเป็นโทษสูงสุดแต่โบราณแล้ว มักใช้กับความผิดที่รุนแรงซึ่งสร้างความเสียหายต่อสังคม ต่อผู้ปกครองบ้านเมือง กระบวนการตัดสินคดีก่อนลงโทษประหารชีวิตจะต้องทำอย่างรอบคอบและเป็นผู้กระทำความผิดแท้จริงเท่านั้น เพื่อความเป็นธรรมต่อครอบครัวของผู้กระทำความผิดและของผู้เสียหาย

เมื่ออดีตโทษประหารชีวิตเริ่มต้นจากการแขวนคอ ตัดคอ ทุบตีจนตาย และพัฒนาไปถึงการยิงเป้านักโทษ ส่วนการประหารชีวิตในไทยที่มีการจดบันทึกไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ การตัดคอ การทุบด้วยท่อนจันทน์ การยิงเป้า แล้วแต่ลักษณะความผิดและคุณสมบัติของผู้กระทำผิด ต่อมาหลายประเทศมีความเชื่อกันว่าการยิงเป้าเป็นการสร้างความทรมานแก่นักโทษ จึงคิดค้นหาวิธีตายที่สบายขึ้น จนกระทั่งมาถึงการใช้ยาพิษ โดยอยู่บนพื้นฐานความคิดว่าร่างกายของมนุษย์เปรียบคล้ายเครื่องจักร แต่ละส่วนมีการทำงานเฉพาะหน้าที่ ถ้าเพียงปิดการทำงานทีละจุด มนุษย์จะมีอาการคล้ายคนนอนหลับและหยุดหายใจหรือตาย อันถือว่าไม่ทรมานเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ปืนยิงจนกว่าจะตาย

การคัดเลือกยาพิษเพื่อใช้ประหารชีวิตให้เหมาะสมกับแนวคิดการตายที่ไม่ทรมาน โดยเน้นคุณสมบัติทางเคมีของสาร และจัดลำดับการฉีดสารแต่ละตัวไว้ มีดังต่อไปนี้
     1. โซเดียมไธโอเพนธัล ทำให้หมดสติหรือหลับ
     2. แพนคูโรเนียมโบรไมด์ ทำให้ระบบประสาทหยุดการทำงาน
     3. โปตัสเซียมคลอไรด์ ทำให้หัวใจหยุดทำงาน

การฉีดสารเคมีแต่ละตัวตามลำดับจะส่งผลต่อนักโทษ คือ หลับ ระบบประสาททุกส่วนหยุดการทำงานลง จากนั้นหัวใจจะค่อยๆหยุดเต้นและไม่หายใจในที่สุด นักวิทยาศาสตร์และนักทัณฑวิทยาเชื่อว่าวิธีประหารชีวิตด้วยสารพิษจะไม่ทำให้นักโทษต้องทรมานเมื่อเทียบกับการยิงปืนใส่ร่างนักโทษจนกว่าจะหมดลมหายใจตามที่ใช้กันมาหลายปีแล้ว และเป็นการประหารด้วยความเมตตา แต่หลายประเทศก็ยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะเห็นว่าเป็นความทารุณโหดร้าย แล้วเน้นที่การจำคุกนักโทษรุนแรงเหล่านั้นอย่างเข้มงวดแทนการฆ่าให้ตายตกไปตามกันอันเป็นแนวคิดลงโทษในอดีต

ไม่ว่าจะมีโทษประหารชีวิตหรือไม่ จะสังเกตได้ว่าการกระทำผิดรุนแรงและโหดเหี้ยมยังมีให้เห็นในสังคมเสมอ วิธีป้องกันดีที่สุดคือการบ่มเพาะสั่งสอนสมาชิกในครอบครัวให้มีเมตตาสูง เห็นคุณค่าชีวิตของผู้อื่นเยี่ยงเดียวกับชีวิตของตน เคารพกฎหมายบ้านเมือง ถ้าเริ่มต้นที่ครอบครัวอย่างดีแล้ว สังคมจักได้รับผลพลอยได้จากการอบรมสั่งสอนที่ดีนี้ด้วย การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โทษประหารชีวิตจักไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป