โดย ทรงกลด บางยี่ขัน (@zcongklod)
จริงๆครับ เราสามารถเปลี่ยนโลกได้ด้วยการเปลี่ยนกางเกงใน
ตอนได้ยินเรื่องนี้ทีแรก ผมก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมากมาย จนกระทั่งมาสะดุดกับสโลแกนที่ว่า "Change starts with your underwear" ผมถึงเม้มปาก พยักหน้าช้าๆ แล้วเอ่ยปากชมคนคิดโปรเจกต์นี้ว่า "นายแน่มาก"
ลองคิดเล่นๆไหมครับว่าการเปลี่ยนกางเกงในมันจะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้ยังไง?
เอ่อ...มันไม่ได้ช่วยเรื่องสุขอนามัยอะไรทำนองนั้น
แล้วก็ไม่ใช่การเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ด้วย เปลี่ยนจริง ช่วยจริง เห็นผลจริง นับเป็นวิธีดูแลสิ่งแวดล้อมที่ใหม่มาก สดมาก และลากเอาเครื่องหุ้มห่ออวัยวะใต้สะดือไปรวมกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว
เรื่องมันเริ่มต้นจากไอเดียของ Jason Kibbey กับ Jeff Denby ที่อยากทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคม ไอเดียที่เขาคิดได้คือ ทำกางเกงใน
กางเกงในยี่ห้อ PACT ของพวกเขาเป็นกางเกงในธรรมดาๆที่ออกแบบมาให้พวกเราใส่กันได้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน มีหลายทรง หลายลาย ทั้งของผู้ชาย ของผู้หญิง เซ็กซี่ มีสไตล์ ใส่สบาย ทำจากฝ้ายคุณภาพสูง สองเจ้าของกิจการมองว่านี่แหละคือทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภค
การผลิตแบบอุตสาหกรรมโดยทั่วไปจะพยายามลดค่าใช้จ่ายลงในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ไปจนถึงการทอ ย้อม ออกแบบ ตัดเย็บ สกรีน และบรรจุหีบห่อ ทำให้มักจะละเลยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ในการผลิตกางเกงใน PACT นั้นคิดตรงข้าม พวกเขาพิถีพิถันใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน ทำงานร่วมมือกับยอดฝีมือทุกด้าน แน่นอนว่าต้นทุนการผลิตย่อมสูงขึ้น แต่พวกเขาก็ฉลาดพอจะสร้างแบรนด์ให้ดูดีมีราคากว่าสิ่งที่ลงทุนเพิ่มไป
จุดเด่นของ PACT คือการใช้ฝ้ายออแกนิกแท้ ซึ่งหมายถึงการใช้ฝ้ายพันธุ์ที่ปลอดจีเอ็มโอ (ฝ้ายจำนวนมากในโลกเป็นฝ้ายจีเอ็มโอไปหมดแล้ว) และปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน แต่กางเกงในของพวกเขาก็ไม่ได้เลือกใช้ฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันจะเสียทรงง่าย และมีอายุการใช้ง่ายค่อนข้างสั้น จึงใช้ฝ้ายแค่ 95 เปอร์เซ็นต์แล้วเติมใยยางยืดลงไปอีก 5 เปอร์เซ็นต์เพื่อเพิ่มอายุการใช้งาน ฝ้ายที่เลือกใช้ก็มาจากโครงการที่ได้รับการรับรองเรื่องแรงงานว่าทำงานและได้รับค่าแรงอย่างเป็นธรรม
สีที่ใช้ย้อมและใช้สกรีนก็ไม่มีโลหะหนักและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก และเมื่อมองกระบวนการผลิตทั้งหมดตั้งแต่การปลูก ปั่นฝ้าย ทอ ย้อม พิมพ์ ตัด เย็บ จนสำเร็จเป็นกางเกงใน ล้วนเกิดขึ้นในรัศมี 100 ไมล์ภายในประเทศตุรกี
แม้จะผลิตที่ตุรกีแล้วส่งกลับมาที่อเมริกา ก็ยังปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าการผลิตเองในสหรัฐฯทุกขั้นตอน ซึ่งต้องขนส่งไปทำแต่ละขั้นตอนในเมืองที่ต่างกันไป
มีคนจำนวนหนึ่งแย้งว่าฝ้ายนั้นใช้น้ำในการปลูกเยอะ ถ้าอยากสร้างความยั่งยืนควรหันไปใช้เส้นใยจากไผ่หรือถั่วเหลืองมากกว่า ทางฝ่าย PACT เลยตอบกลับว่าการปลูกไผ่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าก็จริง แต่เนื่องจากมีเส้นใยที่แข็งกว่า เลยต้องใช้สารเคมีมากขึ้นในการทำให้มันนิ่ม ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งสุขภาพคนและสุขภาพโลก ส่วนเส้นใยจากถั่วเหลืองก็นิ่มดี แต่เนื้อผ้าที่ได้ไม่ทน ใช้งานได้ไม่นานต้องเปลี่ยนบ่อย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
สิ่งหนึ่งที่ทีมงานได้เรียนรู้จากการพัฒนากางเกงในที่กรีนที่สุดในโลกก็คือ ทุกอย่างล้วนมีข้อดีและข้อเสียเสมอ ถ้าคุณอยากเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคซื้อ คุณก็ต้องทำให้เขาอยากซื้อมันก่อน พวกเขารู้ดีกว่าฝ้ายออแกนิกไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มันก็ดีกว่าฝ้ายที่ปลูกด้วยการใช้สารเคมีจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ฝ้ายเกือบทั้งโลกกำลังเป็นอย่างนั้น PACT ต้องการทดแทนกางเกงในที่วางขายอยู่ทั่วไปซึ่งทำจากฝ้ายปกติ พวกเขาต้องการให้ลูกค้าหยุดซื้อกางเกงในที่ทำจากฝ้ายปกติแล้วหันมาใช้กางเกงในที่ทำจากฝ้ายออแกนิกแทน
ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ยั่งยืนขึ้น ผู้บริโภคควรจะได้รับความสะดวกสบายเท่าเดิม
PACT เลยไม่เชื่อว่ากางเกงในที่ทำจากฝ้ายออแกนิกต้องออกมาสีตุ่นๆ แบบเชยๆ พวกเขาเลยชวน Yves Behar สุดยอดดีไซเนอร์แห่ง Fuseproject ผู้ชำนาญในการใช้การออกแบบแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมาออกแบบกางเกงในให้ โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านกางเกงในอย่าง Dwayne Hein ซึ่งคร่ำหวอดอยู่กับกางเกงในมาตั้งแต่ยุค 80 เคยนั่งเก้าอี้ใหญ่โตใน Calvin Klein และ DKNY มาแล้ว ที่สำคัญเขาเคยเดินทางไปดูโรงงานผลิตกางเกงในมาแล้วแทบจะทุกแห่งในโลก
ทั้งกางเกงในและบรรจุภัณฑ์เลยออกแบบมาได้อย่างสวยเก๋น่าใช้ ถุงผ้าที่ใส่กางเกงในให้ออกแบบมาได้สวยแบบเรียบๆ สามารถนำกลับมาใช้ใส่อะไรก็ได้ และบางส่วนของถุงก็ยังมาจากเศษผ้าเหลือทิ้ง
PACT บอกว่าวันนี้กางเกงในของพวกเขายังไม่สมบูรณ์แบบ แต่อยู่ระหว่างทางที่กำลังมุ่งไปสู่ความยั่งยืนบนถนนที่ใช้กางเกงในเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงโลก
การซื้อ PACT ไปใช้เลยหมายถึงการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการให้กำลังใจชาวไร่ที่ปลูกฝ้ายออแกนิก ได้รับผิดชอบต่อแรงงาน และสนับสนุนองค์กรธุรกิจที่ทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น
PACT จึงใช้สโลแกนว่า "การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่กางเกงในของคุณ"
เห็นแล้วก็อดเอาไปเทียบกับการสวมเสื้อยืดสกรีนคำว่า "Stop Global Warming" ไม่ได้ มันเป็นแค่การป่าวประกาศไม่ใช่การลงมือทำ เผลอๆทั้งเสื้อและคนใส่อาจจะไม่ได้ทำอะไรเพื่อหยุดโลกร้อนเลยด้วยซ้ำ
ไม่เหมือน PACT ที่ไม่ต้องสกรีนอะไร ใส่เงียบๆอยู่ด้านในโดยไม่มีใครเห็น และไม่ต้องบอกใครว่าฉันได้ช่วยโลกแล้ว
บางที การดูแลโลกอาจจะเหมือนการสวมกางเกงใน ความสบายที่เราได้รับมาจากการได้สวมกางเกงในตัวนั้น ไม่ได้มาจากการโชว์ให้คนชม